ห้องสมุดแห่งการเรียนรู้ กศน.อำเภอเชียงคาน
[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

 



                    ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังสะพุง
--------------------------------------------------------------------------------
ประวัติความเป็นมาห้องสมุดประชาชนอำเภอวังสะพุง

                ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังสะพุง สร้างในปี  พ.ศ. ๒๕๔๑  โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทั้งภาครัฐ  และเอกชน  ในการก่อสร้างบนพื้นที่ ๑ ไร่ ๑๐ ตารางวา   ปรับปรุงเป็นอาคาร  ๒  ชั้น โดยมีศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวังสะพุง อยู่ชั้น  ๒  ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังสะพุงอยู่ชั้นล่าง
               ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังสะพุง   เป็นแหล่งเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒     และแก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ. ๒๕๔๕  จัดห้องสมุดประชาชนไว้ในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต   ตามมาตรา  ๒๕   ด้านการศึกษา  ห้องสมุดมีบทบาทสำคัญในส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการเรียนรู้จากการค้นคว้าด้วยตนเอง  เป็นแหล่งสารนิเทศที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ  โดยจัดเตรียมทรัพยากรสารนิเทศทั้งในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์  สื่อไม่ตีพิมพ์  และสารนิเทศอิเล็กทรอนิกส์  สภาพแวดล้อม  และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้และมีความรอบรู้  นอกจากนี้เทคโนโลยีสารนิเทศยังช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา  ทุกสถานที่

สถานที่ตั้ง
      ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังสะพุง   ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย  ตั้งอยู่ที่  หมู่ที่  ๕   ถนนภูมิวิถี   ตำบลวังสะพุง   อำเภอวังสะพุง   จังหวัดเลย  ๔๒๑๓๐  พื้นที่ประมาณ   ๑  ไร่  ๑๐ ตารางวา  ระยะทางห่างจากจังหวัดเลย  ๒๒   กิโลเมตร  
โทรศัพท์    ๐-๔๒๘๕-๐๖๗๒  โทรสาร   ๐-๔๒๘๔-๑๘๖๖   

สังกัด  
      ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวังสะพุง  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเลย  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ       กระทรวงศึกษาธิการ

ผู้บริหาร 
        นายประเด็จ   แปลงกันทา     ผู้อำนวยการ  กศน.อำเภอวังสะพุง
บุคลากร
       นางสาวสายสุดา   ประเสริฐสวัสดิ์  บรรณารักษ์ชำนาญการ
       นางสาววิจิตตรา    มนตรี   บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ

วิสัยทัศน์
 ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังสะพุง   เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

พันธกิจ
     ๑. ให้บริการหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
     ๒. ให้บริการในบรรยากาศที่ดี เอื้อต่อการเรียนรู้
     ๓. ให้บริการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

แนวทางการดำเนินงาน 
       ๑. จัดหาหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ดี มีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการ และเหมาะสมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
       ๒. สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน การเรียนรู้ การค้นคว้า และสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน
        ๓. พัฒนาและส่งเสริมคุณภาพบรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดให้มีความเป็นมืออาชีพ มีจิตบริการ เป็นนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ และเป็นผู้บริหารจัดการความรู้ที่ดี

  
มาตรฐาน“ห้องสมุด ๓ ดี”
         มาตรฐานที่ ๑  หนังสือดี หมายถึง หนังสือ และสื่อการเรียนรู้ดี มีคุณภาพ มีเนื้อหาสาระถูกต้อง ไม่เป็นพิษเป็นภัย และตรงใจผู้อ่านในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่ออื่นๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
         มาตรฐานที่ ๒  บรรยากาศดี หมายถึง ห้องสมุดประชาชนที่เอื้อต่อการอ่าน การเรียนรู้ การค้นคว้า อุดมไปด้วยความรู้ ความบันเทิง และเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามาใช้บริการเสมือนหนึ่งเป็นบ้านหลังที่สอง ที่สะดวก สะอาด ร่มรื่น ปลอดโปร่ง และปลอดภัยสำหรับทุกคนที่เข้ามาใช้บริการ เป็นห้องสมุดประหยัดพลังงาน และสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน
        มาตรฐานที่ ๓  บรรณารักษ์ดี หมายถึง บรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความรู้ในห้องสมุดกับผู้ใช้บริการ มีความเป็น “มืออาชีพ” มีจิตบริการ มีความรู้ลึก รู้รอบ รู้กว้าง รู้ไกล ทันสมัย ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เป็นผู้บริหารจัดการความรู้ที่ดี และเป็นผู้ปฏิบัติงานอย่างมีความสุข
การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
         บรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด และผู้เกี่ยวข้อง ประเมินสภาพการดำเนินงานห้องสมุดในความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นจากเดิมทั้ง ๓ ด้าน ว่าอยู่ในสภาพใด ต้องพัฒนาด้านใด และกำหนดแผนและแนวทางการพัฒนาห้องสมุดประชาชนแต่ละแห่งที่ชัดเจน ดังนี้ 


 ด้านหนังสือ
   ๑. ดำเนินการให้มีการจัดซื้อหนังสือ และสื่อการเรียนรู้เข้าห้องสมุดให้เป็นไปตามนโยบาย เพื่อให้ห้องสมุดมีหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ดี มีคุณภาพ และเพียงพอกับจำนวนผู้ใช้บริการ
   ๒. แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกหนังสือ และสื่อการเรียนรู้เข้าห้องสมุด
   ๓. ดำเนินการจัดซื้อหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และตามรายชื่อที่คัดเลือกไว้ในสัดส่วนที่เหมาะสม
   ๔. กำหนดนโยบายให้มีการใช้หนังสือ และสื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการมีนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
   ๕. จัดนิทรรศการ/ตลาดนัดหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ โดยเชิญชวนร้านค้า และสำนักพิมพ์ต่างๆ มาร่วมจำหน่ายหนังสือ และสื่อการเรียนรู้

 ด้านบรรยากาศ 
   ๑. พัฒนาหรือปรับปรุงห้องสมุดให้มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านการเรียนรู้ และการค้นคว้า
  ๒. ปรับปรุง ออกแบบและตกแต่งอาคาร ทั้งภายในและภายนอกห้องสมุดให้มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และควรใช้ศิลปกรรมร่วมสมัยในการออกแบบ
  ๓. ซ่อมแซม ปรับปรุง จัดวางครุภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทันสมัย อุณหภูมิ สี และองค์ประกอบของครุภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องเป็นแนวคิดเดียวกัน รวมทั้งการจัดวางมุมต่างๆ และพื้นที่ใช้สอยภายในห้องสมุดให้เหมาะสม

 ด้านบรรณารักษ์ 
  ๑. พัฒนา อบรมบรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดให้มีความรู้ในการบริหารจัดการห้องสมุดสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
   ๒. มีการทำงานเชิงรุกและทำงานแบบคนรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
   ๓. สนับสนุน ส่งเสริมให้บรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดได้รับโอกาสในการอบรม ศึกษาดูงาน หรือแลกเปลี่ยนความรู้กับบุคลากรห้องสมุดอื่นๆ
  ๔. ส่งเสริมบรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ การใช้หนังสือ และสื่อการเรียนรู้ให้กับผู้ใช้บริการตลอดเวลา


 



เข้าชม : 2189
 
 

ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังสะพุง
ถนนภูมิวิถี  ตำบลวังสะพุง  อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย  โทรศัพท์ ๐๔๒-๘๕๐๖๗๒ 

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   ศุรศักดิ์