เรื่องที่ 7
กรอบแนวทางการดำเนินงาน “ห้องสมุด 3 ดี”
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
-------------------------------
ความสำคัญและความเป็นมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาห้องสมุดของสถานศึกษาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพ โอกาส และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะการเติมเต็มการศึกษานอกระบบและการศึกษาอัธยาศัยให้เป็น “การศึกษาตลอดชีวิต” ทั้งนี้ เนื่องจากในการปฏิรูปการศึกษาช่วงแรก เน้นแต่การศึกษาในระบบเป็นส่วนมาก ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดแนวทางพัฒนาห้องสมุดให้เป็น “ห้องสมุด 3 ดี” ที่เน้นการพัฒนาใน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาตลอดชีวิต และนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เนื่องจากห้องสมุดประชาชนเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญา เป็นแหล่งรวมความรู้ทุกแขนง ทุกศาสตร์ และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่าน ห้องสมุดจึงเปรียบเสมือนโลกใบใหญ่แห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งบันเทิงประเทืองปัญญา ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ บรรณารักษ์เป็นมิตร วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทันสมัย น่าสนใจใคร่เรียนรู้ สถานที่ และบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ มีหนังสือ และสื่อการเรียนรู้หลากหลายประเภทอย่างเพียงพอ และตรงกับความต้องการ
เพื่อให้ห้องสมุดประชาชน สำนักงาน กศน. พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานห้องสมุดประชาชน จึงควรเร่งพัฒนาห้องสมุดให้เป็น “ห้องสมุด 3 ดี” โดยมีเป้าประสงค์ 3 ประการ คือ หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี
เป้าประสงค์ตามนโยบาย “ห้องสมุด 3 ดี”
เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของห้องสมุดประชาชน สำนักงาน กศน. ทุกแห่ง ให้เป็น “ห้องสมุด 3 ดี” ได้แก่
ดีที่ 1 หนังสือดี หมายถึง หนังสือ และสื่อการเรียนรู้ดี มีคุณภาพ มีเนื้อหาสาระถูกต้อง ไม่เป็นพิษเป็นภัย และตรงใจผู้อ่านในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่ออื่นๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
ดีที่ 2 บรรยากาศดี หมายถึง ห้องสมุดประชาชนที่เอื้อต่อการอ่าน การเรียนรู้ การค้นคว้า อุดมไปด้วยความรู้ ความบันเทิง และเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามาใช้บริการเสมือนหนึ่งเป็นบ้านหลังที่สอง ที่สะดวก สะอาด ร่มรื่น ปลอดโปร่ง และปลอดภัยสำหรับทุกคนที่เข้ามาใช้บริการ เป็นห้องสมุดประหยัดพลังงาน และสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน
ดีที่ 3 บรรณารักษ์ดี หมายถึง บรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความรู้ในห้องสมุดกับผู้ใช้บริการ มีความเป็น “มืออาชีพ” มีจิตบริการ มีความรู้ลึก รู้รอบ รู้กว้าง รู้ไกล ทันสมัย ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เป็นผู้บริหารจัดการความรู้ที่ดี และเป็นผู้ปฏิบัติงานอย่างมีความสุข
วิสัยทัศน์
ห้องสมุดประชาชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
พันธกิจ
1. ให้บริการหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
2. ให้บริการในบรรยากาศที่ดี เอื้อต่อการเรียนรู้
3. ให้บริการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
แนวทางการดำเนินงาน
1. จัดหาหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ดี มีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการ และเหมาะสมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
2. สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน การเรียนรู้ การค้นคว้า และสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน
3. พัฒนาและส่งเสริมคุณภาพบรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดให้มีความเป็นมืออาชีพ มีจิตบริการ เป็นนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ และเป็นผู้บริหารจัดการความรู้ที่ดี